ข่าวอยุธยา | khaoayutthaya.com | ข่าว | อยุธยา | พระนครศรีอยุธยา | ข่าวด่วน | ข่าวอุบัติเหตุอยุธยา | ข่าวอาชญากรรมอยุธยา | วัดป้อมแก้ว | หลวงพ่อเพิ่ม

สาธารณสุขจังหวัดเตือนประชาชนป้องกันแก้ไขอุบัติภัยที่เกิดช่วงน้ำท่วม

ข่าวอยุธยา

ข่าวอยุธยา นายพิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมและปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นตามแม่น้ำลำคอลง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ในการดำรงชีวิต อยู่ท่ามกลางน้ำที่ท่วมขังบ้านเรือน ประชาชนควรระมัดระวังอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้น ได้แก่ จมน้ำ ไฟดูด การบาดเจ็บจากการเหยียบของแหลมหรือของมีคม รวมทั้งอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำขึ้นมาอาศัยในบริเวณบ้านเรือนซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันตนเองไม่ให้จมน้ำ หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นวิถีชีวิต ควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม โดยสามารถทำอุปกรณ์ชูชีพได้จากอุปกรณ์ที่สามารถหาและทำได้ง่าย เช่น การนำแกลลอนคู่คล้องใต้รักแร้ทั้ง 2 ข้าง หรือถ้าพบคนตกน้ำ หากต้องลงไปช่วย ควรมีอุปกรณ์ เช่น ถังแกลลอน ให้คนที่ตกน้ำเกาะเพื่อพยุงตัวเข้าหาฝั่ง และเป็นการป้องกันไม่ให้คนตกน้ำกอดรัดคนที่ลงไปช่วย ประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น หาปลา ต้องเข้าพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ควรเดินทางเป็นกลุ่ม และต้องสวมเสื้อชูชีพ หรือเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยในการลอยตัวในน้ำได้ เช่น ห่วงยาง เป็นต้น ไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเสียชีวิตในช่วงอุทกภัยนั้น คือ “ไฟฟ้าดูด” เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวถูกกระแสไฟฟ้าดูดควรรถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้าน

กรณีถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยนั้น เมื่อถูกสัตว์หรือแมลงมีพิษกัดควรมีการดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะเพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง รีบนำผู้ประสบเหตุส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว และห้ามกรีดแผล ห้ามดูดแผล ห้ามใช้ไฟหรือไฟฟ้าจี้ที่แผล ห้ามโปะน้ำแข็ง ห้ามพอกสมุนไพร ห้ามดื่มสุรา และไม่ควรทานยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ตัวอย่างเช่น ประสะนอแรด, ไวคุล, เอเอ็นที, ทัมใจ, หัวสิงห์ ในกรณีถูก “ผึ้ง ต่อ แตน” กัดต่อยให้ดึงเอาเหล็กในออก หลังทาด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน ส่วนในกรณีถูกตะขาบหรือแมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลนเช่นกัน ไม่ว่าจะถูกสัตว์มีพิษชนิดใดกัด หากมีอาการปวดมากหรือมีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวกให้รีบพบแพทย์ด่วน

นอกจากสัตว์มีพิษที่กล่าวมาแล้ว “ปลิง” เป็นสัตว์อีกชนิดที่มากับน้ำ หากถูกปลิงกัดให้ใช้น้ำเกลือเข้มข้น (น้ำผสมเกลือแกง) หรือใช้ไม้ขีดไฟหรือบุหรี่ที่จุดไฟแล้วจี้ที่ตัวปลิงให้หลุดออกจากแผล แล้วทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อเบตาดีน โดยเช็ดวนจากด้านในออกสู่ด้านนอก หรือใช้ “ใบสาบเสือ” ที่ล้างสะอาดขยี้ปิดปากแผล นอกจากโรคทางกายภาพแล้วผู้ประสบภัยจำนวนมากต่างเกิดความเครียด ซึ่งเป็นกลไกทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปฏิกิริยาจะเกิดขึ้นกับผู้ประสบอุทกภัยนั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านสุขภาพ ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ระบบขับถ่ายผิดปกติ มีอาการเมื่อยล้า ปวดศรีษะ มีปัญหาในการนอน มีอาการช็อกและหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย หงุดหงิด สิ้นหวัง สับสน ไม่มีสมาธิ คิดมาก คิดซ้ำซาก รวมทั้งมีปัญหาในความจำด้วย

จึงแนะประชาชนด้วย 10 วิธี ดูแลจิตใจ
1. ตั้งสติมองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข
2. หากท้อใจให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ได้แก่ ความผูกพันกับครอบครัว ความศรัทธาทางศาสนา
3. ฝึกหายใจคลายเครียด
4. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย วันละ 6-8 ชั่วโมง
5. แปลงปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันใกล้ชิดต่อกัน
6. บริหารร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที วันเว้นวัน
7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา
8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมชุมชน
9. คิดทบทวนสิ่งดี ๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน
10.จัดการปัญหาทีละขั้นทีละตอน ไม่จมไปกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียดความทุกข์ใจ

นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง หากประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือด่วน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ ทางสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด




คุณอาจสนใจข่าวนี้

error: เนื้อหา และภาพข่าวมีลิขสิทธิ์ห้ามนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาติ