ข่าวอยุธยา | khaoayutthaya.com | ข่าว | อยุธยา | พระนครศรีอยุธยา | ข่าวด่วน | ข่าวอุบัติเหตุอยุธยา | ข่าวอาชญากรรมอยุธยา | วัดป้อมแก้ว | หลวงพ่อเพิ่ม

ชาวนาวอนกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกพ้นทุ่งผักไห่ ยังท่วมสูง1เมตร ปลูกข้าวไม่ได้

ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวนา ตำบลลาดงา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพื้นที่นาอยู่ในทุ่งรับน้ำผักไห่ ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่เต็มทุ่งนา ไม่สามารถเริ่มการปรับพื้นที่ทำนาได้

จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบว่า ทุ่งนาขนาดใหญ่ มีพื้นที่ติดต่อกับ จังหวัดสุพรรณบุรี จ.อ่างทอง มีน้ำท่วมสูง ถนนทางเข้าหมู่บ้านระดับน้ำเพิ่งจะลดลง บ้านเรือนยังคงมีคราบความเสียหายจากการถูกน้ำท่วม รวมถึงเครื่องมือทางการเกษตร กลุ่มชาวนา ใน ม.8 ต.ลาดงา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รวมถึงรถไถนา เพื่อเตรียมที่ทำนา แต่ยังไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากระดับน้ำสูง

นายเนียม วาจาเพราะ อายุ 68 ปี ชาวนาที่พื้นที่ทำนายังมีน้ำท่วมสูงทั้ง 30 ไร่ เปิดเผยว่า ระดับน้ำที่ท่วมเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร แล้วแต่พื้นที่ หัวคันนายังจมน้ำอยู่ ยังไม่สามรถนำรถไถนาลงไปปรับพื้นที่ทำนาได้ เดือดร้อนมาก

เราต้องรีบทำนาในช่วงของเดือนนี้ เพราะนามีระยะเวลาการทำประมาณ 110 วัน หรือประมาณ 3 เดือน ก่อนจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนเมษายน แล้วเริ่มทำนาในรอบที่ 2 ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนกันยายน ก่อนถึงช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมอีกตามฤดู ซึ่งจะมาประกาศเร่งให้ชาวนาเก็บเกี่ยว เพราะจะผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำอีก โดยในรอบแรก ถ้านาข้าวทำช้า เราจะทำนาข้าวในรอบที่ 2 ไม่ทัน น้ำจะท่วมเสียหายอีก

พอถึงฤดูน้ำท่วมจะเร่งให้ผันน้ำเข้าทุ่งเพื่อป้องกันน้ำท่วม ให้เร่งเก็บเกี่ยว พอน้ำท่วมจะโทษชาวนา ซึ่งจริงๆ แล้ว ปัญหาคือ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งพื้นที่ทุ่งนาหลายทุ่งที่เป็นทุ่งรับน้ำน้ำแห้งหมดแล้ว ชาวนาไถนาปรับพื้นนาเตรียมหวานพันธุ์ข้าวกันแล้ว แต่ทุ่งนาแห่งนี้ยังไม่แห้ง ทุ่งผักไห่นี้มีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก น่าจะมากกว่า 20,000 ไร่ ติดต่อกัน 3 จังหวัด

กรมชลประทาน ต้องเร่งเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อผันน้ำออกจากทุ่งนา เพื่อไหลลงคลองและแม่น้ำน้อย เพราะระดับน้ำในทุ่งมากกว่าน้ำในแม่น้ำน้อย จากการสำรวจพื้นที่พบว่า การระบายน้ำของกรมชลประทาน ใช้วิธีการเปิดประตูระบายน้ำออก อ้อมไปทางสุพรรณบุรี ซึ่งทำให้เสียเวลา เปิดประตูระบายน้ำให้ไหลลงแม่น้ำน้อยจะรวดเร็วและไม่ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

นายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย ชาวนามีที่นากว่า 50 ไร่ ยังถูกน้ำท่วมอยู่เช่นเดียวกัน เปิดเผยว่า น้ำที่ท่วมอยู่ในทุ่งนา ยังท่วมสูงถึงจะลดลงแล้วแต่ลดลงอย่างช้ามาก จากการที่ได้ไปสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงหลายพื้นที่ในอำเภอเสนา อำเภอบางไทร น้ำลดลงจนชาวนาสามารถทำนากันได้แล้ว

จากนั้นไปสำรวจประตูระบายน้ำต่างๆ พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำต่ำกว่ากันเยอะ เมื่อช่วงต้นเดือนสอบถามไปยังชลประทาน ได้ให้เหตุผลว่า ไม่สามรถเปิดประตูระบายน้ำสูงขึ้นได้ เกรงคันตลิ่งจะทรุดแล้วตอนเปิดเข้ามาในทุ่งนาจนนาข้าวบางพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวไม่ทันเสียหาย อยากให้กรมชลประทนมาลงพื้นที่สำรวจว่า จะจัดสรรบริหารน้ำอย่างไรให้ชาวนาได้ทำนาได้ทันเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล

ทุ่งนาทุ่งนี้ถูกผันน้ำเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน จนถึงขณะนี้น้ำยังท่วมสูง ชาวนาจะเริ่มปรับพื้นที่ทำนาไม่ได้ ปกติปลายเดือน พฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม จะเริ่มต้นการทำนาได้แล้ว มาปีนี้ยังเริ่มทำนาไม่ได้ ทำให้ล่าช้าเลื่อนออกไปอีก มีผลกระทบต่อการทำนาในรอบที่ 2 เราจะมาถูกเร่งให้เก็บเกี่ยว เพราะจะผันน้ำเข้าทุ่งอีกแล้ว

น้ำจะลงเร็วหากชลประทาน ระบายน้ำเหมือนตอนที่เอาน้ำเข้ามาในทุ่ง แต่ตอนนี้ชลประทาน ระบายน้ำออกไปทาง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และไปทาง จ.สุพรรณบุรี ทำให้ล่าช้า พี่น้องชาวนาขาดรายได้กันมานาน หวังที่จะได้เริ่มทำนาเร็ว จะได้มีรายได้มาใช้จ่ายใช้หนีสิ้น จึงอยากฝากถึงกรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเร่งแก้ไขปัญหาส่วนนี้ด้วย




คุณอาจสนใจข่าวนี้

error: เนื้อหา และภาพข่าวมีลิขสิทธิ์ห้ามนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาติ